
นายธนพล เอี่ยมสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดิจิท โซล จำกัด (Digit Soul) เปิดเผยว่า ดิจิท โซล ได้ดำเนินการร่วมกับ Chulalongkorn University Test of English Proficiency (CU-TEP) ภายใต้โครงการพัฒนาการแสดงผลการสอบและการตรวจสอบผลคะแนนทดสอบทางวิชาการโดยใช้เทคโนโลยี Blockchain
ที่มีความปลอดภัย ง่ายต่อการตรวจสอบ และเป็นมิติใหม่ของวงการการศึกษาไทย พร้อมผลักดัน Blockchain Innovation ในงานเอกสารของสถาบันการศึกษาแบบองค์รวม สู่ใบปริญญา NFT (NFT Certificate) ที่ตรวจสอบได้ โดยก่อนหน้านี้ก็มีใบปริญญา NFT จาก DPU
นายธนพล กล่าวอีกว่า ด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน ทำให้ทีมนักพัฒนาของดิจิท โซล ต่อยอดพัฒนาเทคโนโลยีบล็อกเชน สู่การใช้ NFT สร้างรหัสโทเคนขึ้นบนเอกสารดิจิทัลภายในสถาบันการศึกษาอย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ปลอดภัย ตรวจสอบได้เพียงใช้ QR Code ที่บล็อกเชนให้การรับรอง จึงยากต่อการปลอมแปลง
อย่างไรก็ดี ต้องเรียนว่า สถานศึกษาหลายแห่งก็เริ่มเก็บเอกสารผลการศึกษาเป็นไฟล์ดิจิทัลแล้ว ถ้ายังไม่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาช่วยในการตรวจสอบหรือบันทึกโทเคน (Token) ลงในไฟล์นั้นๆ ผู้ที่ได้รับไฟล์ดิจิทัล ต่อมาจะสามารถตัดต่อหรือปลอมแปลงค่าต่างๆ เช่น ผลการสอบหรือเกรดบนทรานสคริปต์ให้ผิดไปจากความจริงอย่างไรก็ได้
แต่เมื่อเอกสารเหล่านั้นอยู่ในระบบบล็อกเชนและทำการติดโทเคน (Token) ให้กับเอกสารแล้ว เมื่อมีการนำไฟล์มาปรับเปลี่ยนนอกระบบ โทเคนนั้นจะถูกตัดออกจากระบบในทันที และเมื่อมีตรวจสอบไฟล์นั้นผ่าน QR Code ก็จะกลายเป็นไฟล์ที่ไม่มีอยู่ในระบบบล็อกเชนของทางมหาวิทยาลัย

นายธนพล กล่าวอีกว่า เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับระบบความปลอดภัยของข้อมูล ดิจิท โซล จึงมีพาร์ทเนอร์ด้านเทคโนโลยีมาร่วมตรวจสอบความปลอดภัยของระบบที่บริษัทฯ พัฒนาขึ้น ผ่านสองบริษัทคือ Cloudsec Asia และ Datafarm มาตรวจสอบอย่างเข้มข้นหลายขั้นตอน พร้อมออกใบรับรอง (Certification) เพิ่มความมั่นใจให้กับลูกค้าของดิจิท โซลทุกคน
ส่วนเป้าหมายต่อไปของดิจิท โซลนั้น ยังให้ความสนใจการพัฒนานวัตกรรมบล็อกเชน (Blockchain Innovation) มาใช้ในแวดวงการเกษตร ด้วยการนำบล็อกเชนมาใช้ร่วมกับสินค้าการเกษตรที่ส่งออกไปขายทั้งในและต่างประเทศ โดยการสร้าง QR Code เพื่อแจ้งข้อมูลให้กับสินค้าว่าผลิตที่ไหน เมื่อไหร่ เวลาใดที่ควรรับประทาน เพื่อสร้างมูลค่าและความน่าเชื่อถือให้กับผู้ผลิต รวมถึงสร้างความมั่นใจให้กับทั้งพ่อค้าคนกลาง ห้างร้าน ไปจนถึงผู้บริโภค
ถือว่าเป็นอีกหนึ่งก้าวของมหาวิทยาลัย Chulalongkorn และการศึกษาไทยสู่วงการ Blockchain ที่จะเป็นแนวทางที่จะใช้ในอนาคตได้ครับ
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ TOMITECH