KirosZ ผู้อยู่ทุกช่วงของการเติบโตวงการอีสปอร์ตไทย

KirosZ ผู้อยู่ทุกช่วงของการเติบโตวงการอีสปอร์ตไทย

ในวันที่เกมยังไม่ได้การยอมรับจากสังคม โอกาสเติบโต และสร้างเป็นอาชีพแทบเป็นศูนย์ แต่ KirosZ หรือ “อาร์ท” – วีระศักดิ์ บุญชู นักพากย์เกม FPS(First-person shooter) คือหนึ่งในคนที่เชื่อว่า เกมต้องไปได้ไกลกว่านี้

แม้จะไม่มีใครเข้าใจสิ่งที่ทำ แต่เขาเลือกที่จะมอบช่วงเวลาเกือบครึ่งชีวิตให้กับสิ่งนั้นตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงวันนี้
ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปี ที่แล้ว หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบเกมแนวยิงปืน อาจคุ้นชื่อของเว็บไซต์ FPS Thailand.com ซึ่งเปรียบเสมือนสังคมคนเล่น FPS มีทั้งข่าวสาร และการแข่งขันในวงการให้รับทราบ

ผมเริ่มจากเขียวข่าว แปลข่าวจาก CSGO ลงเว็บไซต์ โpsthailand

KirosZ อาร์ท

จากวันที่เริ่มต้น แม้ผลตอบแทนจะไม่ได้มากมาย แต่ อาร์ท ไม่ได้มองว่า นั่นคือเรื่องสำคัญ เงินจึงไม่ใช่ปัญหาที่จะทำให้ลังเลอยากจะทำสิ่งที่ชอบต่อไป เขาเพียงมองว่า แค่ได้ทำในสิ่งที่ชอบ เลี้ยงตัวเองไปวันๆก็เพียงพอแล้ว

“ผมโชคดีที่ไม่ถึงขั้นมีหนี้มีสิน ไม่ต้องใช้เงินเยอะเอาแค่หล่อเลี้ยงตัวเองในแต่ละวันก็โอเคแล้ว ตอนนั้นยังวัยรุ่นมันก็ไม่ได้คิดถึงอนาคตไกลมาก”

แม้อาชีพนักข่าวสายเกมจะเป็นจุดเริ่มต้นของเขาในวงการนี้ แต่ด้านหนึ่งเขาก็เคยเติบโต และเข้าสู่วงการในฐานะนักแข่งเกมด้วย

ช่วงปี 2005-2007 อาร์ทได้ลงแข่งขันเกม Need for Speed ต่อเนื่อง ก่อนจะกระโดดสู่ FIFA Online ในปี 2008 ที่เกือบได้เป็นตัวแทนประเทศไปแข่งขันชิงแชมป์โลกที่ประเทศเยอรมัน แต่กลับแพ้นัดชิงชนะเลิศ จากนั้นปี 2010 เขาทำความฝันสำเร็จ เมื่อถูกคัดเป็นตัวแทนประเทศไปแข่งขัน FIFA Online ที่ประเทศสิงคโปร์เป็นครั้งแรก และกลายเป็นสิ่งที่จุดไฟในตัวให้เขาอยากต่อยอดตัวเองในวงการเกมมากขึ้น

เป็นเวลาเดียวกับที่พี่แว่น กำลังสร้างทีมอีสปอร์ต ตอนนั้น KirosZ ทำงานร่วมกับเว็บไซต์ FPS Thailand มาก่อนหน้านี้แล้ว ก่อนที่ทั้งคู่จะให้กำเนิดทีมอีสปอร์ตที่ดีที่สุดทีมหนึ่งของไทยในนาม MiTH…

“ตอนนั้นพี่แว่นเป็นพนักงาน Asiasoft ทำในเรื่องนี้อยู่แล้ว” อาร์ท เล่าถึงเหตุการณ์ที่นำไปสู่การก่อตั้งทีม MiTH “มีวันหนึ่งเขาพาทีมไปแข่งรายการหนึ่งที่มาเลเซียแล้วไปเห็นโลกกว้างทีมอื่นมีเสื้อแข่ง มีสปอนเซอร์ เวลายืนถ่ายรูปหรือตอนแข่ง มันดูมีพลัง พอกลับมาไทยเขาก็ยกหูหาพี่หนุ่ม ซุนวู ทันทีว่าทำทีมอีสปอร์ตต้องมีอะไรบ้าง”

ในยุคเริ่มต้น การขอสปอนเซอร์หาผู้สนับสนุนหรือจะทำให้คนสนใจเกม เปลี่ยนมุมมองที่มีต่อเกมจากสิ่งไร้ประโยชน์ว่า มันเป็นอาชีพได้จริงคือเรื่องยากยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขา แต่สิ่งที่ทำให้ อาร์ท และ MiTH เติบโตต่อเนื่องเป็นเพราะ พวกเขาไม่ได้สนใจสิ่งเหล่านั้น เพราะหวังทำในสิ่งที่อยากทำเท่านั้น

“พวกผมเดินหน้าลุยไม่มีแวะสนใจใคร แต่ไม่ใช่จะเติบโตได้เร็ว เราจะทำทัวร์นาเมนต์รายเดือนเพื่อกอบกู้สังคมคนเล่นเกมนี้กลับมาอีกครั้ง ตอนนั้นที่เราโฟกัสก็มี Point Blank , SPECIAL FORCE”

“ตอนนั้นที่ทำทัวร์นาเมนต์ Point Blank ก็เอาไปเสนอขายเพื่อสร้างสังคมของผู้เล่นหน้าใหม่ๆเข้ามา จนตอนนั้นผู้เล่นหน้าใหม่เข้าแข่งขันจนได้เป็นตัวแทนประเทศเราได้เห็นตั้งแต่เขาเป็นโนเนมพอแข่งรายการใหญ่ก็ติดรอบชิงแล้วได้แชมป์ประเทศอีก มันทำให้เรารู้สึกว่า Community คือเรื่องสำคัญ และมองว่ามันคือผลผลิตที่เราทำกันมา เราไม่ได้ต้องการทำเพื่อให้ภาคเอกชนหรือรัฐเห็นแล้วมาช่วยลงทุน “

FPS Thailand และ MiTH กลายเป็นรากฐานต่อยอดให้วงการเกมเติบโตขึ้น ขณะเดียวกัน อาร์ท ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จที่ผ่านเกือบทุกบทบาทในวงการทั้ง นักข่าว , ผู้จัดการแข่งขัน , เกมเมอร์ ก็ถึงจุดหนึ่งที่ความท้าทายพุ่งเข้าหาอีกครั้ง เมื่อได้รับโอกาสสัมผัสงานพากย์ครั้งแรก

เส้นทางสู่นักพากย์เกม KirosZ

“ตอนที่ได้มีโอกาสพากย์เกมครั้งแรกเป็นรายการที่พวกผมทำกันเองคือ Point Blank และ SPECIAL FORCE ช่วงนั้นพี่แว่นเริ่มทำไม่ไหวบางทีภาค 4-5 วันติดกัน” อาร์ท เล่าย้อนถึงวันที่สัมผัสบทบาทนักพากย์เกมครั้งแรกในชีวิต

“วันที่ผมได้พากย์แกพูดไว้แต่เช้าแล้วว่า ถ้าเขากลับมาไม่ทันให้เราเตรียมพร้อมไว้หน่อย พอดีมันเป็นเกมที่เล่นอยู่แล้วอย่าง PB และ SF เลยไม่ยาก นี่คือจุดเริ่มต้นการพากย์ของผม หลังพากย์ไปเรื่อยๆกลายเป็นว่าเจ้าใหญ่ๆเห็น เพราะคนพากย์ไม่ได้หาง่ายๆ พอมีคนรู้จักก็เรียกใช้งานได้ง่าย หลังจากนั้นผมได้พากย์รายการหลักของ SF2 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่อยอดงานพากย์ไปจนถึง PUBG(PlayerUnknown’s Battlegrounds)”

ด้วยงานพากย์ที่เข้ามามากขึ้น ทำให้เวลาฝึกซ้อมหรือแข่งขัน FIFA Online ของตัวเองลดน้อยลง อาร์ท ตัดสินใจ ยุติบทบาทนักแข่ง และเริ่มต้นใหม่สู่การเป็นนักพากย์เต็มตัวเพื่อเต็มที่กับสิ่งที่ทำ
“จุดยากสุดของงานพากย์ไม่ใช่ช่วงบรรยายเกม แต่มันจะไปยากตอนเปิดรายการทักทายคนดู” อาร์ท กล่าวต่อ “เราต้องอธิบายว่า วันนี้ใครเจอใคร มันเป็นช่วงที่ต้องคิดคำพูดข้อมูลในหัวตลอดเวลา แต่สำหรับผมไม่ได้ปรับตัวยาก เพราะมันเป็นเกมที่คุ้นเคยอยู่แล้ว แผนที่การเล่น ชื่อทีม ผู้เล่น ลักษณะการแข่ง ผมคุ้นเคยอยู่แล้วจึงพูดได้เป็นธรรมชาติ”

ชื่อของ KirosZ เป็นที่รู้จักมากขึ้นในวงการ FPS แต่เขามองว่า ยังมีสิ่งที่ต้องเรียนรู้อยู่เสมอ โดยเฉพาะเกมใหม่ๆกับรายละเอียดแตกต่างจากที่เคยมี เรื่องนี้มีผลต่อการตัดสินใจรับงานพากย์ของเขาด้วย

“ผมจะไม่รับงานพากย์กับเกมที่ไม่ถนัด ผมจะรับแค่งานที่รู้ และเข้าใจ เล่นจริงเช่น PUBG แต่ตอนพากย์ PUBG Mobile ก็ไม่ง่าย เพราะบางอย่างมันแตกต่างไปจากบน PC ถ้าเรามั่วมันกลายเป็นโดนด่าทันทีว่าไม่รู้จริง ฉะนั้นการเตรียมตัวอาจจะเตรียมหน้างานแล้ว แต่ต้องเตรียมพวกชื่อทีม ,สปอนเซอร์ ,สัญชาติทีมนั้นๆ รวมถึงกฎอธิบายคนดู นี่คือสิ่งที่เราต้องเตรียมสำหรับเกมที่ไม่รู้จักเพื่ออธิบายให้คนภายนอกเข้าใจ”

“ที่ยากอีกก็มีตอน VALORANT มันเป็นเกมใหม่ที่มีทั้ง Map , Agent , Skill ซึ่งมันต่างจากเกมยิงเมื่อก่อนที่มีแค่ปืนอย่างเดียว แต่กับ VALORANT ปืนก็ไม่ซ้ำกับเกมทั่วไป ต้องทำความเข้าใจใหม่หมด”

“การเตรียมตัวของผมคือจะมีกระดาษแผ่นหนึ่งจดรายละเอียดของปืนแต่ละแบบ อีกแผ่นหนึ่งเป็นข้อมูล Agent ถ้านึกไม่ออกก็เหลือบตาไปดู ว่าตัวนี้คืออะไร สกิลอะไร ก็เครียดเหมือนกันนะ เพราะตอนนั้นเป็นรายการแข่งระดับประเทศคนดูก็เยอะมาก”

อย่างไรก็ตามความพยายามทำการบ้านอย่างหนัก ใส่ใจกับงานทุกครั้งก็ทำให้ อาร์ท ผ่านความท้าทายได้เสมอ…

มุมมอง KirosZ ต่อการเติบโตอีสปอร์ตเมืองไทย

อีสปอร์ตในไทยที่ได้รับการยอมรับมากขึ้น ทำให้เราได้เห็นการแข่งขันเกมรายการต่างๆถูกผลักดันขึ้นมามีบทบาทในสังคมวงกว้าง อาร์ท ในฐานะผู้อยู่ในยุคบุกเบิกก็ยอมรับว่า ทุกวันนี้อีสปอร์ตเติบโตในแบบที่เขาเคยหวังไว้

“ถ้าถามว่า ตามที่หวังไหมก็เป็นไปตามที่หวัง อาจไม่ได้รวดเร็วมากซึ่งจริงๆมันก็ไม่ควรเร็วมากอยู่แล้ว ควรค่อยๆเป็นค่อยๆไปเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น แต่ทุกอย่างเริ่มเป็นในแบบที่ผมคิดไว้คือเริ่มเป็นที่สนใจจากสื่อ มีแบรนด์แมสเข้ามาสนใจช่วยซัพพอร์ททีม มีคนดูเยอะขึ้น เงินรางวัลมาตรฐานก็สูงขึ้น”

ไม่ใช่แค่ที่กล่าวมาเท่านั้นที่ทำให้ อีสปอร์ต เติบโตขึ้น แต่เขายังมองว่า รูปแบบการจัดการแข่งขันรายการต่างๆคือส่วนสำคัญที่ทำให้ทุกอย่างเติบโตอย่างมั่นคง และดึงดูดทั้งนักแข่ง , สปอนเซอร์ , คนดู มายิ่งขึ้น

ด้านแพลตฟอร์มผู้ให้บริการอื่นๆก็เช่นกัน อาร์ท ในฐานะผู้อยู่ในยุคบุกเบิกอีสปอร์ตมองว่า มีส่วนสำคัญอย่างมากในการสื่อสารให้สังคมเข้าใจ และทำให้วงการอีสปอร์ตเกิดการพัฒนามากขึ้น เช่น Online Station ที่อยู่เบื้องหลังการเติบโตของวงการนี้มาตลอด

Online Station เขามีความหลากหลาย เป็นองค์กรที่แข็งแกร่งมาตลอด 10 ปี ไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ นิตยสาร เว็บไซต์ ตอนนี้มีแพลตฟอร์มดูแลสตรีมเมอร์ด้วย สำหรับผมการมี Online Station เป็นเหมือนจุดใหญ่ที่เป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารของวงการเกม ใครอยากรู้ความเคลื่อนไหว อัพเดทอย่างไร มีดาราคนไหนที่เป็นสตรีมเมอร์ในสังกัดก็สามารถเข้ามาดูในออนไลน์ Online Station ได้ เป็น Hub ในวงการเกม”

“เขาสามารถนำเสนอในวงกว้างได้ สามารถพาอินฟลูเลนเซอร์ หรือ สตรีมเมอร์ในสังกัดไปให้คนอื่นรู้จักกับแบรนด์ใหญ่ๆได้ เพราะเป็นยุคของคอนเทนต์ครีเอเตอร์ ซึ่งตรงนี้ทำให้เกิดรายได้มั่นคงต่อคนๆนั้น บางทีอาจชีวิตพลิกผันภายในปีเดียวเลยด้วยซ้ำ”

“นักพากย์มันก็เป็นอาชีพที่ผ่านเข้ามาในชีวิตผมแค่ 2 ปี ต้องยอมรับว่า นักพากย์ทำให้ผมเป็นที่รู้จักมากขึ้น และเร็วมาก ตอนนี้ผมยังคงอยู่ได้เรื่อยๆกับงานนักพากย์ก็อาจจะสัก 2-3 ปี ตอนนี้ผมอายุ 32 ปี คิดว่าไม่เกิน 40 คงพอแล้วกับการนั่งพากย์”

ตลอดเส้นทางนี้ตั้งแต่นับ 1-100 เกมไม่เคยห่างจากชีวิตของ KirosZ แม้ปัจจุบันจะรู้สึกอิ่มตัว แต่เขายังมีความสนุกกับการทำงานทุกวันตลอด 10 ปี ที่ผ่านมา กับความท้าทายใหม่ๆที่วิ่งเข้ามาเสมอ

ถือว่าเป็นคนนึงที่สำคัญในการขับเคลื่อนวงการเกมไทยเลยครับผม

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ TOMITECH