Mark Zuckerberg เส้นทาง Facebook กับกลยุทธ์การตลาดสุดโต่ง

Mark Zuckerberg เส้นทาง Facebook กับกลยุทธ์การตลาดสุดโต่ง

ขอบคุณภาพจาก Brandinside

หากพูดถึงแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์หรือโซเชียลมีเดีย คิดว่าคงไม่มีใครจะไม่รู้จัก Facebook และผู้ชายชื่อ Mark Zuckerberg บุคคลผู้อยู่เบื้องหลังแพลตฟอร์มที่เชื่อมผู้คนมากมายเข้าไว้ด้วยกันบนโลกออนไลน์ 

Facebook เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของ Mark นับตั้งแต่วันแรกที่เขาสร้างขึ้นในปี 2004 ที่หอพักมหาวิทยาลัยฮาร์วาด และวันนั้นเขาอายุเพียง 19 ปี เท่านั้น จากวันนั้นจนวันนี้นับได้ 18 ปีแล้ว ที่  Facebook กลายเป็นความสำเร็จระดับเปลี่ยนชีวิตเขา

Mark Zuckerberg ได้ Facebook เป็นสปริงบอร์ดส่งเขาเข้าสู่อันดับมหาเศรษฐีโลกครั้งแรกปี 2008 กับการถือครองสินทรัพย์ราว 1,500 ล้านดอลลาร์ แถมยังเป็นเจ้าของสถิติมหาเศรษฐีที่อายุน้อยที่สุดในปีที่เขาได้เข้าสู่การจัดอันดับ (อายุ 23 ปี)

ส่วนอันดับมหาเศรษฐีของโลกในปีปัจจุบัน Mark อยู่ในอันดับที่ 15 กับการถือครองสินทรัพย์ราว 62,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ Facebook ก็กลายเป็นหนึ่งในบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีมูลค่าบริษัทราว 580,000 ล้านดอลลาร์

Mark Zuckerberg ได้กลายเป็นต้นแบบความสำเร็จของนักธุรกิจรุ่นใหม่หลังยุคมิลเลนเนี่ยม ที่ประสบความสำเร็จได้โดยที่ไม่ต้องเรียนจบปริญญาตรี เก่งการทำธุรกิจแพลตฟอร์มออนไลน์จนร่ำรวยมหาศาล ถึงทุกวันนี้ Mark ก็ยังพาแพลตฟอร์ม Facebook ก้าวข้ามการเปลี่ยนแปลงไปสู่ชื่อใหม่ว่า Meta 

ส่องประวัติ Mark Zuckerberg ผู้ให้กำเนิด “Facebook” เชื่อมผู้คนทั่วโลกผ่านออนไลน์

วันนี้พี่ทุยจะขอพาทุกคนย้อนกลับไปส่องประวัติเรื่องราวของชายคนนี้อีกครั้ง แม้ว่าหลายเรื่องหลายคนคงจะเคยอ่านผ่านตาและเคยรู้กันมาบ้างแล้ว แต่แนวคิด แรงบันดาลใจ ไปจนถึงเรื่องดราม่าในแง่มุมต่าง ๆ ของ Mark Zuckerberg คนนี้ อ่านอีกกี่ทีก็สนุกไม่รู้เบื่อ

เขียนโปรแกรมได้ตั้งแต่เรียนมัธยมต้น

Mark เกิดเมื่อ 14 พ.ค. ปี 1984 ที่เมืองไวต์เพลนส์ รัฐนิวยอร์ก สหรัฐฯ พ่อทำงานเป็นทันตแพทย์ ส่วนแม่เป็นจิตแพทย์ จึงกล่าวได้ว่าเขาเกิดมาในครอบครัวคุณหมอ Mark เป็นลูกชายคนเดียวท่ามกลางพี่น้องผู้หญิงอีก 3 คน เด็กทุกคนในบ้านนี้ถูกเลี้ยงแบบชาวยิว เป็นเด็กฉลาดและมีพรสวรรค์ด้านวิชาการ

เรียกได้ว่า Mark เป็นนักเรียนแถวหน้าของห้อง ได้รับรางวัลด้านคณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ และด้านอื่น ๆ นอกจากวิทยาศาสตร์เช่น วรรณกรรมคลาสสิก พูดได้อีก 4 ภาษานอกจากภาษาอังกฤษ ได้แก่ ฝรั่งเศส ฮีบรู ละติน และกรีกโบราณ ไม่แค่นั้นเขายังเป็นนักกีฬาฟันดาบระดับกัปตันทีม เรียกว่าฉายแววอัจฉริยะในทุก ๆ ด้านมาตั้งแต่เด็ก

Mark ได้คอมพิวเตอร์เครื่องแรกเมื่อเรียนอยู่ชั้น ป.6 และเริ่มสนใจการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ช่วงเรียนมัธยมต้น เขาเรียนการเขียนโปรแกรมภาษาเบสิกสำหรับเครื่องอาตาริจากพ่อของเขา จากนั้นครอบครัวก็สนับสนุนให้เขาไปเรียนเขียนโปรแกรมส่วนตัวกับนักพัฒนาซอฟต์แวร์มืออาชีพตอนเริ่มเรียนมัธยมปลาย

เขาลงมือเขียนโปรแกรม Facebook ในเดือน ม.ค. ปี 2004 จากนั้นก็เล่าให้เพื่อนอย่าง Dustin Moskovitz ฟัง ซึ่ง Dustin ก็ได้แนะนำให้เขาประชาสัมพันธ์ผ่านอีเมลของนักศึกษาหอพักเดียวกันเพื่อให้เข้ามาเล่น ปรากฏว่าภายในวันเดียวมีนักศึกษาลงทะเบียนร่วมเล่น The Facebook เกือบ 1,500 คน 

Facebook เริ่มลงหลักปักฐานได้อย่างจริงจังปี 2005 เมื่อ Mark Zuckerberg ตั้งสำนักงานที่ซิลิคอนแวลลีย์ เมืองหลวงแห่งเทคโนโลยีโลกอนาคต เขาตัดสินใจตัดคำว่า The ออกจากชื่อแพลตฟอร์ม เหลือแค่คำว่า Facebook หลังจากนั้น Facebook ก็ได้เปิดให้บริการกับมหาวิทยาลัยอีก 21 แห่งรวมออกซฟอร์ดและเคมบริดจ์ มหาวิทยาลัยระดับโลกจากอังกฤษเข้าไปด้วย 

หลังจากนั้น Facebook จึงค่อย ๆ ขยายฐานของผู้ใช้ด้วยการเปิดสิทธิให้กับพนักงานของบริษัท IT ระดับโลกอย่าง Apple, Microsoft และบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่อื่น ๆ จนกระทั่งสิ้นปี 2005 Facebook ก็ได้ขยายเข้าไปในมหาวิทยาลัยกว่า 2,000 แห่งทั่วโลก และโรงเรียนมัธยมอีกกว่า 25,000 แห่ง ได้รับเงินลงทุนมูลค่า 12.7 ล้านดอลลาร์ และทำให้ Facebook มีมูลค่ารวมทั้งหมด 98 ล้านดอลลาร์

ซื้อเป็นของเราให้เกลี้ยง เมื่อเจอบริษัทที่เป็นคู่แข่ง

เมื่อ Facebook ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว ไม่น่าแปลกใจที่จะถูกหมายตาจากธุรกิจอื่น ๆ ที่เกิดมาก่อนและครองตลาดอยู่ในตอนนั้น Yahoo! เสนอซื้อ Facebook ด้วยข้อเสนอมูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์ Microsoft ก็ยื่นข้อเสนอซื้อด้วยราคา 500 ล้านดอลลาร์เพื่อขอถือหุ้น 5% (ที่สุดแล้ว Facebook ยอมขายหุ้น 1.6%) รวมถึงยังมีผู้ยื่นข้อเสนอที่ไม่เปิดเผยชื่ออีกรายที่ยื่นข้อเสนอด้วยราคา 750 ล้านดอลลาร์

แต่ Mark ปฏิเสธข้อเสนอทั้งหมดพร้อมแนวคิดที่ว่า ตัวเขาเองและ Facebook ต่างหาก ที่จะต้องเป็นผู้เสนอซื้อกิจการอื่น ในตอนนั้นเขาได้ทำการประเมินมูลค่าของ Facebook ผลลัพธ์ที่ได้ออกมาก็คือ Facebook มีมูลค่าถึง 8,000 ล้านดอลลาร์

Facebook มักจะซื้อกิจการที่เป็นคู่แข่งหรือแพลตฟอร์มบริการที่ทำให้คุณค่าของ Facebook หรือผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่พวกเขามีอยู่มีคุณค่ามากขึ้น ในช่วงแรก Facebook ซื้อ Friend Feed เว็บไซต์รายงานข่าวแบบเรียลไทม์ที่สร้างขึ้นโดยหนึ่งในผู้สร้าง Google Map และ Gmail

ต่อมา Mark ก็ซื้อ Octazen Solutions สตาร์ตอัพของมาเลซียที่สามารถดึงข้อมูลของผู้ติดต่อจากหลายแหล่งเข้าด้วยกัน และ ซื้อ Divvyshot ที่เป็นเจ้าของระบบการแชร์ภาพถ่าย ยิ่งซื้อบริษัทเพิ่มเท่าไร นักลงทุนก็ยิ่งสนใจและเชื่อมั่นใน Facebook มากขึ้นเท่านั้น จนกระทั่งปี 2012 ซึ่ง Facebook เปิดขายหุ้นแก่สาธารณชนเป็นครั้งแรก พวกเขาก็ได้เงินสดมาบริหารธุรกิจจำนวนมหาศาล

ส่วนการเข้าซื้อกิจการครั้งใหญ่และอยู่ในความสนใจของผู้คนก็คือ ตอนที่ Facebook ซื้อแพลตฟอร์มแชร์รูปถ่าย Instagram ในเดือน เม.ย. ปี 2012 ด้วยราคา 1,000 ล้านดอลลาร์โดยจ่ายทั้งรูปแบบเงินสดและหุ้น

หลังจากนั้น Instagram ก็มีผู้ใช้เพิ่มขึ้นสามเท่าในปีต่อมา ซึ่งนับว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกของ Mark Zuckerberg และ Facebook ที่ทำการตัดคู่แข่งแพลตฟอร์มที่มีลักษณะใกล้เคียงกันและเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ในภาพรวมของ Facebook ได้อีกด้วย 

แต่ดีลครั้งใหญ่ที่ Facebook เข้าซื้อกิจการอื่นจริง ๆ คือเมื่อตอนเข้าซื้อ WhatsApp แพลตฟอร์มแชทพูดคุยที่มีลักษณะคล้ายฟังก์ชัน Facebook Messenger เมื่อเดือน ก.พ. ปี 2014 ด้วยมูลค่ามากถึง 19,000 ล้านดอลลาร์

แบ่งจ่ายเป็นเงินสด 4,000 ล้านดอลลาร์ เป็นหุ้นของ Facebook 12,000 ล้านดอลลาร์ และตราสารสิทธิซื้อขายหุ้นของ Facebook สำหรับผู้ก่อตั้ง WhatsApp อีก 3,000 ล้านดอลลาร์ (เรื่องตลกร้ายอย่างหนึ่งก็คือ Jan Koum หนึ่งในผู้ก่อตั้ง WhatsApp นั้นเคยถูกปฏิเสธรับเข้าทำงานจาก Facebook) 

ส่วนผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลงในวงการแพลตฟอร์มการสื่อสารจากการที่ Facebook เข้าซื้อ WhatsApp ครั้งนั้น และเพิ่มฟังก์ชันการโทรด้วยเสียงเหมือนกับการใช้โทรศัพท์เข้าไป มีการวิเคราะห์กันว่า ทำให้บริษัทอื่น ๆ ในตลาดสูญเสียรายได้ระหว่างปี 2012 ถึง 2018 ไปมาถึง 386,000 ล้านดอลลาร์เลยทีเดียว

ในปัจจุบันนี้สถานการณ์ก็มีวี่แววจะไม่ราบลื่นซะเท่าไหร่ ซึ่งคงต้องรอดูล่ะครับ ว่าจะเป็นยังไงหลังจากนี้

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ TOMITECH