Mickie กล่าวว่า Toxic People ปัญหาที่ไม่เคยหายไปจากโลกอีสปอร์ต

Mickie opinion

ขอบคุณรูปภาพจาก ESTNN

รู้จักกับ ปองภพ “Mickie” รัตนแสงโชติ อดีตโปรเพลเยอร์ Overwatch ที่ปัจจุบันผันตัวเป็นอินฟลูเอนเซอร์ของ Bacon Time ผู้เคยผ่านประสบการณ์มาแล้วเกือบทุกบทบาท และมีวิธีการจัดการปัญหาต่างๆ

แม้อีสปอร์ตจะเติบโตต่อเนื่อง ภายใต้การยอมรับที่หลายฝ่ายไม่ว่าจะเอกชนหรือภาครัฐ ได้สนับสนุนอีสปอร์ตมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาได้เห็นความสำเร็จเป็นไปสู่ระดับโลกในหลายเกมทั้ง RoV, Free Fire, PUBG หรือ Valorant ฯลฯ

เมื่อมีผลดีก็ย่อมมีผลเสีย โดยเฉพาะสิ่งที่ไม่เคยห่างหายไปจากวงการนี้อย่างคำพูดที่สร้างความเกลียดชัง ที่จนถึงตอนนี้กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้งในหลายเกมที่เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาทั้งหมด แต่ผลร้ายที่วงการอีสปอร์ตต้องเจอมีเพียงเท่านั้นจริงหรือ?

Toxic People มะเร็งร้ายอีสปอร์ต

Mickie บอกว่า คำพูดที่สร้างความเกลียดชังหรือบุคคลที่เป็นพิษต่อผู้อื่นที่เรียกกันว่า Toxic People แน่นอนว่าไม่มีใครห้ามความคิดใครได้ ดังนั้นมันจึงเป็นปัญหาที่ไม่เคยจบสิ้น ทุกวันนี้หลายเกมพยายามออกกฎเข้มบังคับให้ผู้เล่นหรือคนดูไม่แสดงพฤติกรรมทางลบออกมาที่อาจส่งผลเสียต่อผู้อื่น ๆ แต่ปัญหาเหล่านี้ยังเกิดขึ้นเสมออีกทั้งยังรุนแรงมากขึ้นอย่างที่เห็น

นักกีฬาอีสปอร์ตคือความฝันของเหล่านักเล่นเกม นี่คืออาชีพใหม่ที่ช่วยสร้างชื่อเสียง, ความสำเร็จ, เงินรายได้ และอื่น ๆ อีกมากมายที่จะได้รับจากอาชีพนี้ แต่หากพูดถึงแง่ลบ นี่คืออาชีพที่ต้องยอมแลกหลายสิ่งเพื่อการเติบโต และบางครั้งก็โหดร้ายจนนำบางคนไปสู่โรคซึมเศร้า

“ผมให้เรื่องสภาพจิตใจเป็นอันดับหนึ่งในการยืดอายุนักกีฬา” Mickie กล่าว

“ส่วนมากคนที่เลิกแข่งไม่ได้เกิดจากสภาพร่างกายอย่างเดียว จริงอยู่พออายุมากขึ้นก็สู้เด็กรุ่นใหม่ลำบาก นักแข่งรุ่นใหม่จะไฟแรง ซ้อมหนัก ตัดสินใจเร็ว พอคนที่อายุมากจะเริ่มคิดเยอะขึ้น คนที่เลิกแข่งส่วนมากสภาพร่างกายเขายังไหวนะ แต่เขาทนแรงกดดันไม่ไหวมากกว่า”

“เวลาฟอร์มไม่ดีจะเจอคำพูดที่ว่า ทำไมเล่นได้แค่นี้ ฝีมือแค่นี้ทำไมได้อยู่ทีมนี้ทำไมไม่ออกจากทีม อยู่เป็นตัวถ่วงทีมไปทำไม ผมเจอแบบนี้ทุกสตรีมสมัยแข่ง OWL ซีซั่นแรกผมแพ้เยอะมาก ทุกครั้งที่ผมสตรีมจะเจอแต่เรื่องแบบนี้ซ้ำ ๆ ตลอด คนให้กำลังใจก็มี แต่ความเป็นจริงของมนุษย์ชอบเรื่องดราม่า”

คำพูดที่ว่า “คำวิจารณ์จะทำให้คุณแข็งแกร่งขึ้น” นั้นไม่ผิด แต่ก็ไม่ถูกเสียทีเดียว เพราะเกราะป้องกันในมุมมองของเขา คือต้องทำความเข้าใจถึงแก่นของปัญหาอย่างแท้จริงเพื่อนำไปสู่ทางออกที่ถูกต้อง ไม่ใช่มีเพียงคำพูดหรือข้อคิดปลุกใจสวยหรู ซึ่งอาจไม่เป็นวิธีแก้ไขที่ถูกต้องนัก

“แต่ถ้าเราเริ่มเข้าใจว่าจริง ๆ แล้วทุกคนต่างพ่อต่างแม่ต่างสภาพแวดล้อม ดังนั้นทุกคนมีสิทธิ์ที่จะคิดในมุมของตัวเอง บางคนอาจเกินขอบเขต แต่สิ่งที่เราควรรู้คือเราควบคุมอะไรไม่ได้ นั่นคือความคิดคนอื่น พอผมได้เข้าใจจุดนี้ ในเมื่อเราเปลี่ยนอะไรไม่ได้ แต่เราสามารถป้องกันตัวเองได้ ผมก็ยังอ่านคอมเมนต์บ้างนะ แต่ไม่ได้รู้สึกแย่ไปกับมัน”

เขายอมรับว่า ความรู้สึกของมนุษย์เป็นเรื่องซับซ้อนเกินไป ทำให้บางครั้งอาจไม่รู้ว่าควรมีปฏิกิริยากับคำพูดนั้น ๆ อย่างไร การแยกแยะอะไรคือสิ่งที่ควรหรือไม่ควร

“ถ้าคนหนึ่งเจอคำพูดแง่ลบ คนคนนั้นกำลังเป็นซึมเศร้ารู้สึกแย่มาก ๆ แล้วเราเดินไปบอกว่ามันก็แค่คำพูด แต่มันทำให้เราแข็งแกร่งขึ้นนะ ถามว่าเขาจะรู้สึกดีขึ้นไหมก็ไม่ดีหรอก เพราะเรื่องแบบนี้มันต้องใช้เวลา และการเลือกคำพูดที่ถูกต้อง สำคัญคือต้องเรียนรู้การรับมือให้ถูกวิธี”

ดังนั้น เราควรเคารพทุกๆฝ่ายและระวังการใช้คำพูดทให้เหมาะสมต่อกัน เพื่อเสริมสร้าง Community ต่างๆให้มีความน่าอยู่ยิ่งขึ้นครับ 

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ TOMITECH