Themiang นักแข่ง Digital Motorsport สู่การแข่งโอลิมปิกคนแรกของไทย

Themiang นักแข่ง Digital Motorsport สู่การแข่งโอลิมปิกคนแรกของไทย

Themiang เมี่ยง-ณัฐยศ ศิริกายะ นักแข่งเกม Gran Turismo(GT) ถึงขั้นก้าวสู่มหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกอย่างโอลิมปิก เส้นทางเป็นอย่างไร

วัยเด็กของ เมี่ยง เป็นชีวิตที่หลายคนต้องอิจฉา ครอบครัวมีฐานะการเงินมั่นคง คุณพ่อเป็นเจ้าของบริษัทจำหน่ายอุปกรณ์เครื่องยนต์เครื่องบิน ดังนั้นความฝันเป็นนักแข่งรถ กีฬาที่ต้องใช้ทุนตัวเองในตอนเริ่มต้น จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะลงมือทำ

“ตอนแรกผมอยากเป็นนักแข่งรถ พอมาช่วงอายุ 20 ปี ต้นๆผมมีความฝันอยากลงไปแข่งรถในสนามจริง” เมี่ยง เล่าถึงจุดเริ่มต้นความฝันแรกกับการเป็นนักแข่งรถ

ด้วยฐานะทางบ้านที่มั่นคง เมี่ยง ได้รับการศึกษาอย่างดี เขาเข้าศึกษาระดับไฮสคูลที่ RAIS (โรงเรียนนานาชาติ แอดเวนต์รามคำแหง) ก่อนจะเข้าเรียนมหาวิทยาลัยตั้งแต่อายุ 16 ปี ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะ Business English Communication เพื่อวันหนึ่งเมื่อเรียนจบ เขาจะกลับไปต่อยอดธุรกิจครอบครัวแบ่งเบาภาระคุณพ่อ และสร้างฐานะให้มั่นคง รวมถึงการเป็นนักแข่งรถที่เขามีโอกาสทำฝันนั้นสำเร็จ

แต่ในขณะที่ทุกอย่างกำลังไปได้ดี พายุลูกแรกก็โถมเข้าใส่ เมื่อคุณพ่อเสียชีวิตกะทันกันด้วยโรคมะเร็ง ตอนที่เขาอายุเพียง 17 ปี

“ตอนนั้นฐานะทางบ้านถือว่า ดีมากๆ ก็เรียนหนังสือไปตามปกติ แต่คุณพ่อเสียหลังจากนั้นที่บ้านก็ล้ม ผมไม่ได้เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย มันไม่ใช่แค่มาเริ่มสร้างชีวิตใหม่ แต่มันติดลบ เพราะมีหนี้สิน”

GT Academy คือ การแข่งขันสุดยิ่งใหญ่กับเกม Gran Turismo ซึ่งเป็นการแข่งที่จะทำให้นักแข่งก้าวสู่การเป็นนักขับรถแข่งมืออาชีพ ที่เปลี่ยนผ่านจากเกมสู่สนามแข่งจริง โดยในเวลานั้นกำลังได้รับความนิยมอย่างมากในยุโรปนับตั้งแต่ก่อตั้งครั้งแรกในปี 2008 กับรายการที่ให้คนมีความใฝ่ฝันอยากจะเป็นนักขับรถแข่งมืออาชีพ ได้มีโอกาสพิสูจน์ฝีมือบนสนามจริง ซึ่งจากความนิยมอย่างต่อเนื่องจึงมีโอกาสเป็นไปได้ว่า GT Academy จะขยายฐานเปิดการแข่งในเอเชีย

“ตอนนั้นผมหาทางออกไม่เจอ มันเคว้งไปหมด แต่ใครๆก็พูดว่า ให้ทำในสิ่งที่อยากทำ การขับรถมันเป็นอย่างเดียวที่ผมนึกออก ผมไม่รู้ว่า ตัวเองบ้าหรือเปล่า เพราะได้แต่คิดว่า GT Academy จะเข้ามาเอเชีย แล้วมันก็เข้าจริงๆ”

Themiang ที่ติดตามรายการนี้มานานได้เห็นการขยายโปรแกรมแข่งขันในทวีปต่างๆอย่างต่อเนื่อง ในเวลานั้นเขามองว่า GT Academy จะต้องเปิดตลาดในไทยอย่างแน่นอน ซึ่งก็เกิดขึ้นจริงเมื่อ GT Academy เข้าสู่ประเทศไทย หนแรก ในปี 2014 เพื่อเปิดโอกาสให้นักเล่นเกม Gran Turismo 6 เป็นตัวแทนประเทศไทยลงแข่งขันในระดับสากล

“ผมซื้อเกม Gran Turismo มาเตรียมพร้อมเพราะอยากเริ่มซ้อม พอลองมานั่งเล่นผ่านไป 2-3 เดือนก็รู้ว่า เราไปได้นะ เพราะเวลาที่ทำได้ในการแข่งของเรากับเวลาที่แข่งระดับโลกมันสู้ได้ ผมเลยคิดจะใช้เกมเป็นบันไดไต่สู่การแข่งรถจริง”

เพราะชีวิตต้องสู้ทำให้ เมี่ยง ตัดสินใจทุ่มสุดตัวสำหรับ GT Academy  ซีซั่น 1 การแข่งครั้งนี้ไม่ใช่แค่เติมความฝัน แต่ยังมีเงินรางวัล 30 ล้านบาท ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาต้องการเพื่อนำมาช่วยเหลือครอบครัวที่กำลังลำบาก แต่เขาเริ่มเล่นในปี 2013 ถือว่าค่อนข้างช้า ทำให้ต้องซ้อมหนักกว่าคนอื่นเพื่อตามให้ทัน และย่อมเจอความยากลำบากเป็นธรรมดา

“เงินรางวัลในปีนั้นมากถึง 30 ล้านบาท แถมได้แข่งรถกับ Nismo ก็คิดว่า เอาให้สุดทางเดียวเลย แต่ตอนนั้นผมไม่รู้หรอกว่ามันจะเข้าไทยไหม คิดอย่างเดียวถ้าเข้ามาเปิดแข่งในไทย ถึงตอนนั้นผมต้องซ้อมเพื่อพร้อมให้มากกว่าคนอื่น”

“ก่อนหน้านั้นที่จะไปแข่ง ปกติในไทยมีการแข่งแค่ปีละครั้งจากทาง Sony Computer Entertainment  ที่จัดเอง เป็นรายการที่จะพาคนแข่ง Gran Turismo ไปแข่งขันที่ญี่ปุ่น ซึ่งผมได้ไปมาครั้งหนึ่งชื่อ BMW Z4 Challenge 2014 ตอนนั้นผมเป็นแชมป์คนไทยของอีเวนท์นี้ และเป็นการแข่งต่างประเทศครั้งแรก”

จากประสบการณ์ทั้งสนามซ้อม และการแข่งจริง เมี่ยง พัฒนาฝีมือมากขึ้น เขาพร้อมแล้วสำหรับการแข่งขัน GT Academy ที่รอมานาน ซึ่งเพียงปีแรกเขาเก่งกาจจนได้เป็นแชมป์ แต่กลับพลาดไปแข่งต่อที่ยุโรป…

“ผมเข้าแข่ง GT Academy ทั้งหมด 2 ปี ซีซั่นแรกผมติดเป็น 1 ใน 6 คน แต่ไม่ได้บินไปแข่งที่อังกฤษ เพราะวีซ่าไม่ผ่าน”

จากรายการที่รอคอยจะประสบความสำเร็จ กลับเป็นความทรงจำที่น่าผิดหวัง เมื่อต้องยุติเส้นทางตั้งแต่ยังไม่เริ่ม โดยปีนั้น เบ๊บ หรือ ฐนโรจน์ ธนาสิทธิ์นิธิเกตุ นักแข่งในชุดเดียวกัน กลายเป็นแชมป์ นิสสัน GT Academy คนแรกในไทย ไปแข่งขันชิงแชมป์โลกแทน

แต่ Themiang ยังไม่หมดหวัง เขากลับมาพิสูจน์ตัวเองอีกครั้งในซีซั่น 2 และคว้าแชมป์ประเทศไทยได้สำเร็จ

“ปีที่สองผมเป็นคนไทยที่ได้แชมป์ ได้ลงแข่งรอบ Final แต่ผมอดได้แชมป์กับเงิน 30 ล้านกลับมา แต่ตอนได้ขับรถแข่งจริงมันเหมือนเติมความฝันของเราที่เคยคิดไว้ ผมได้ขับรถเยอะมากทุกแบบรวมถึง ฟอร์มูลา วัน มันเป็นอะไรที่เติมเต็มฝันมากๆ”

สู่ แชมป์ GT คนแรกของไทย ปี 2019 กรังด์ปรีซ์ จับมือเดินหน้าโครงการ GP eRacing ซึ่งเป็นศูนย์รวมของคนรักกีฬา อีสปอร์ต ประเภทการแข่งขันรถยนต์และรถจักรยานยนต์ โดยมีแผนจัดแข่งขันที่มีมาตรฐาน ยกระดับสู่สากล และเริ่มเปิดให้ผู้สนใจร่วมแข่งขัน Gran Turismo ซึ่งได้รับการตอบสนองอย่างดีในไทย

คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ประกาศเตรียมจัดงาน Olympic Virtual Series (OVS) ก่อน มหกรรมกีฬาโอลิมปิก ที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น จะเริ่มขึ้น ซึ่งเป็นงานแข่งวีดีโอเกมจาก 5 ชนิดกีฬาที่ใช้แข่งขันในโอลิมปิก และถือเป็นครั้งแรกที่ Virtual Sports หรือกีฬาเสมือนจริงได้รับลิขสิทธิ์ใช้ชื่อโอลิมปิกอย่างเป็นทางการ โดยมี Gran Turismo เป็นหนึ่งในนั้น

“ในเอเชียมีเพียง 4 โควตา จาก 10 ประเทศ ประเทศหนึ่งจะเอานักแข่งที่เร็วที่สุดแค่คนเดียว เราต้องแข่งทั้งคนไทยและชาติอื่นในเอเชีย ดังนั้นการจะได้โควตานี้คือเราต้องเร็วที่สุด ตลอด 10 วัน ผมขับรถไปทั้งหมด 7-8,000 กิโลเมตร”

“ช่วงไตรมาสแรกผมกดเวลาได้เป็นอันดับ 4 ของเอเชีย แต่ 3-4 วันจากนั้นผมมาโดนแซง แต่มาช่วงกลางๆไตรมาส ผมแซงกลับมาเป็นที่ 3 ก็หนีอันดับกันมาเรื่อยๆ จนจบการแข่งขันติด 1 ใน 16 คนที่ได้ไปโอลิมปิก”

“ช่วง 10 วันที่ผ่านมา ผมนอนวันแค่ละ 3 ชั่วโมง คือทุกอย่างมันกะทันหันเรามีงานที่เราทิ้งไม่ได้ แต่ผมก็ไม่อยากทิ้งโอลิมปิก เลยเอาเวลานอนทิ้งไป แล้วเลือกซ้อมแข่งแทน เพราะ 4 ปี จะมีสักที มันต้องทำให้สุด”

จากความอดทนยอมสละเวลานอนเพื่อเดิมพันตั๋วไปโอลิมปิก เขาทำสำเร็จเมื่อด้วยทำเวลา 1’55.419 ติดเป็นอันดับ 3 ของเอเชียผ่านการคัดเลือกเป็น 1 ใน 16 ผู้เล่นของโลกที่ได้สิทธิ์เข้าแข่งขัน Olympic Virtural Series และเป็นคนไทยคนแรกที่ได้ลงเล่นรายการนี้

“ถ้าเทียบตอนได้แชมป์ที่ฟินแลนด์ ผมรู้สึกว่า การได้ไปโอลิมปิกน่าจะดีใจกว่า เพราะตอนนั้นเหมือนมีโอกาสเข้ามาหาเรา แต่กับโอลิมปิกเราต้องทำเองทุกอย่าง ไม่มีใครซัพพอร์ทเราต้องทำด้วยตัวเองตั้งแต่เริ่ม พอทำได้มันเลยมีค่ามากๆ”

เมื่อความฝันถึงจุดหมาย…เป้าหมายต่อไปของ ‘Themiang ’

“หากเล่าย้อนกลับไปการแข่งขัน Nissan GT Academy คือจุดเริ่มต้นการเล่นเกมของผม หลังจากนั้นผมก็หยุดไประยะหนึ่งเพื่อเริ่มต้นชีวิตครอบครัว ก่อนที่จะตัดสินใจกลับมาอีกครั้งในการแข่งขัน GP e Racing ของบริษัทกรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล โดยคุณเอก-อโณทัย เอี่ยมลำเนา เป็นผู้จัดซึ่งเป็นรายการแข่งขันระดับสูงที่ได้รับการรับรองจากเอฟไอเอ และเป็นแข่งขันระดับอาชีพอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้ผมได้รับเงินเดือนประจำเหมือนนักกีฬาอาชีพจริงๆ ก่อนที่ผมจะตัดสินใจกลับมามุ่งมั่นกับเกม Gran Turismo อย่างเต็มตัวอีกครั้ง”

ขณะเดียวกันการกลับมาประสบความสำเร็จในฐานะนักกีฬา Digital Motorsport ณัฐยศ ยอมรับว่าเป็นเพราะการสนับสนุนจากหลายฝ่ายที่ทำให้เขามุ่งมั่นกับการฝึกซ้อม และแข่งขันได้อย่างเต็มที่ “ผมขอกล่าวขอบคุณการสนับสนุนจากคุณสรัญ เสรีธรณกุล แห่งบริษัท P1Composites​ และ Amber Farm ผู้สนับสนุน​หลักที่ทำให้ผมมีอุปกรณ์​คุณภาพสูงใช้งานจนได้เข้าร่วมการแข่งขันระดับโลกครับ รวมถึงขอบคุณทางคุณอโณทัย เอี่ยมลำเนา ที่ทำให้เกม Gran Turismo Sport สามารถสร้างอาชีพ และฝันของผมไปพร้อมกันได้ครับ”

กระแสความนิยมของกีฬา Esports ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นสูงในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ในฐานะรุ่นพี่ของการแข่งขัน  Digital Motorsport ณัฐยศ ฝากข้อความถึงบรรดาเกมเมอร์สายรถแข่งรุ่นใหม่ที่อยากจะประสบความสำเร็จได้อย่างน่าสนใจ

“สำหรับเด็กรุ่นใหม่ทุกๆ คนที่มีความฝันหรือรักการแข่งขันรถ ชอบกีฬาประเภทแข่งรถอยู่แล้ว ผมอยากจะบอกว่าพวกเขาต้องมีความมุ่งมั่น, ทุ่มเทฝึกฝน และต้องเข้าใจว่าความสำเร็จอาจจะไม่เกิดขึ้นทันที การแข่งขันกีฬาต้องใช้เวลา บางทีอาจจะรู้สึกท้อแท้ แต่ถ้าเราสู้ และตั้งใจมุ่งมั่น ผมเชื่อว่าไม่มีอะไรที่คนไทยทำไม่ได้ครับ”

ถือว่าเป็นบุคคลที่ผ่านหลายสิ่งหลายอย่างมามากๆเลยครับ ถือว่าเป็นไอดอลของใครหลายๆคนได้เลย

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ TOMITECH